มิตรภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

ประเภขของรายการสารคดี

ประเภทของสารคดี
ในการผลิตรายการสารคดีสั้น เนื้อหาและเทคนิคในการผลิตเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง บางเรื่องมีเนื้อหาสาระสลับซับซ้อน แต่บางเรื่องก็ไม่ยุ่งยากสามารถติดตามรับฟังได้ง่าย ๆ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารคดีนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. สารคดีแบบเบาสมอง (Feature) สารคดีชนิดนี้ไม่ต้องการเนื้อหาละเอียดลึกซึ้งและหนักสมองนัก เสนอเพียงเรื่องราวกว้าง ๆ พอเข้าใจ ด้วยรูปแบบที่ค่อนข้างจะให้ความบันเทิง เช่น ละคร สนทนา บทความ เป็นต้น และเสียงประกอบก็อาจจะสร้างขึ้นเลียนแบบของจริงหรือใช้เสียงจริงได้ก็ยิ่งดี สารคดีชนิดนี้ ได้แก่ สารคดีทั่วไป สารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษ สารคดีท่องเที่ยว และสารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
1.1 สารคดีทั่วไป (General Feature) สารคดีประเภทนี้มีเนื้อหาเปิดกว้าง ไม่เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องเป็นเรื่องของมนุษย์ พืช สัตว์ สิ่งของ สุดแล้วแต่ผู้ผลิตรายการจะหยิบยกเรื่องใด ๆ ที่เห็นว่าอยู่ในความสนใจของประชาชน ให้ความรู้หรือให้ประโยชน์แก่ผู้ฟัง โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้เกิดความประทับใจหรือจูงใจให้คล้อยตามเรื่องราวที่นำมาเสนอนั้นหรือให้ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามโอกาส เช่น สารคดีเรื่องบ้านจัดสรร จุดประสงค์ก็เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้จักเลือกซื้อบ้านจัดสรรให้เหมาะกับความเป็นอยู่โดยคุ้มค่าของเงิน ในสารคดีเรื่องนี้ก็อาจจะมีเนื้อหา ดังนี้
- ความเป็นมาของบ้านจัดสรรโดยทั่วไป
- กฎหมายที่เกี่ยวกับบ้านจัดสรร
- ข้อพิจารณาในการเลือกซื้อบ้านจัดสรร
- วิธีการซื้อบ้านจัดสรร
ฯลฯ
โดยเมื่อผู้ฟังได้ฟังสารคดีเรื่องนี้จบก็จะเข้าใจเรื่องนี้และสามารถตัดสินใจได้ว่าควรซื้อหรือไม่ควรซื้อบ้านจัดสรรแห่งไหน อย่างไรหรือไม่
หรือสารคดีเรื่องเกษตรกรรมน้ำหยด โดยมีแกนของเรื่องเน้นที่การเพาะปลูกโดยใช้วิธีให้น้ำแบบน้ำหยดไปตามต้นต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตามและนำไปปฏิบัติบ้าง เนื้อหาก็จะต้องครอบคลุมถึงวิธีการเพาะปลูกและให้น้ำพืชโดยทั่วไป จนถึงประโยชน์ที่จะได้จากการให้น้ำแบบน้ำหยด
การผลิตรายการสารคดีประเภทสารคดีทั่วไปนี้ ผู้ผลิตก็จะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งจากเอกสาร จากบุคคล และบางคราวอาจจำเป็นต้องสร้างเสียงประกอบ หรือนำเสียงจริงมาประกอบเพื่อให้ดูสมจริง และจูงใจผู้ฟังได้คล้อยตามได้มากยิ่งขึ้น
1.2 สารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษ (Special Occasion Feature) สารคดีประเภทนี้สามารถผลิตได้ในทุกโอกาสที่เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคคล ประเพณี วันสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ฟังเป็นสำคัญ ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้สามารถค้นได้ไม่ยากนัก เพราะส่วนใหญ่จะมีเป็นประจำปี เช่น สารคดีเรื่องวันต้นไม้แห่งชาติ เรื่องเทศกาลวิสาขบูชา เรื่องประเพณีรดน้ำดำหัว หรือสารคดีเรื่องวันเสียงปืนแตก เป็นต้น สารคดีประเภทนี้มุ่งที่จะปลูกฝังความสามัคคี ความซาบซึ้งในความเป็นชาติ หรือจูงใจให้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามต่อไป และเนื้อหาที่นำมาประกอบกันเป็นสารคดีเนื่องในโอกาสพิเศษเช่นนี้ก็จะต้องมีส่วนที่ชี้ทางให้ผู้ฟังได้เกิดแนวความคิดดังกล่าวด้วย เช่น สารคดีเรื่องวันสงกรานต์ เนื้อหาก็จะประกอบด้วย

- วันสงกรานต์คืออะไร
- พิธีการในวันสงกรานต์ในท้องถิ่นต่าง ๆ
- เราจะรักษาประเพณีวันสงกรานต์ไว้ได้อย่างไร
ฯลฯ
1.3 สารคดีท่องเที่ยว (Touring Feature) รายการที่เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนั้น จะสามารถมองเห็นได้เด่นชัด เพราะเนื้อหาจะเน้นในเรื่องราวการท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ประมวลประวัติความเป็นมาของสถานที่นั้น รวมถึงจุดที่น่าสนใจ วิธีเดินทาง ค่าใช้จ่าย ที่พักและสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เป็นการให้ข้อมูลทุกด้านแก่ผู้ฟัง ซึ่งอาจสนใจเดินทางไปเที่ยวได้ ผู้ผลิตรายการสารคดีท่องเที่ยวนี้จะต้องพยายามพรรณนาเพื่อจูงใจให้ผู้ฟังคล้อยตามและเกิดภาพทัศน์อย่างแจ่มชัด เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ดังกล่าวในโอกาสต่อไปด้วย เช่น สารคดีเรื่องไปเที่ยวเกาะเสม็ดกันเถอะ เรื่องเชียงใหม่เมืองสวรรค์ หรือเรื่องเขาค้อวันนี้ เป็นต้น
1.4 สารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ (Historical Feature) สารคดีประเภทนี้จะเล่าถึงเรื่องที่เกิดในอดีตว่าเกิดขึ้นอย่างไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร อย่างคร่าว ๆ หรืออาจจะเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ตอนใดตอนหนึ่ง เช่น เรื่องของนายขนมต้ม ซึ่งมีฝีมือในทางมวยไทยเป็นที่เลื่องลือ หรือเรื่องสะพานข้ามแม่น้ำแควอันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น การนำเอาเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาจัดทำเป็นสารคดีสั้นเช่นนี้เท่ากับเป็นการทบทวนเหตุการณ์โดยใช้รูปแบบในการนำเสนอที่ไม่หนักสมอง และใช้เวลาในการนำเสนอไม่ยาวนัก ประมาณ 10-15 นาที
2. สารคดีแบบเข้มข้น (Documentary) สารคดีชนิดนี้มีเนื้อหาสาระในข้อเท็จจริงที่ละเอียดลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุม แต่ละตอนจะใช้รูปแบบในการผลิตที่ค่อนข้างจริงจัง เพื่อให้สารคดีเรื่องนั้นน่าเชื่อถือ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีสัมภาษณ์ บรรยาย รายงานนอกสถานที่ สนทนา และใช้เสียงประกอบจากเสียงจริงที่บันทึกไว้ ลักษณะของสารคดีชนิดนี้จะให้ความรู้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องเป็นรายการที่ค่อนข้างยาวประมาณ 30 นาที และจะต้องดึงดูดความสนใจของผู้ฟังด้วยเทคนิคการผลิตที่มีเสียงจริงประกอบให้มากที่สุด สารคดีชนิดนี้ได้แก่ สารคดีเชิงวิเคราะห์และสารคดีเชิงข่าว
2.1 สารคดีเชิงวิเคราะห์ (Investigative Documentary) สารคดีประเภทนี้จะมีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้งในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และในตอนท้ายของรายการ ผู้ผลิตรายการก็มักจะทิ้งเนื้อหาเรื่องราวที่อาจจะเป็นไปในอนาคตให้ผู้ฟังได้คิดต่อไป ตัวอย่างเช่น สารคดีเรื่องมลภาวะในประเทศไทย เนื้อหาที่จะนำเสนอก็จะครอบคลุมถึงลักษณะความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทย อาชีพ ผลที่เกิดจากการประกอบอาชีพในแง่ของสภาวะต่าง ๆ อันตรายที่เกิดจากสภาวะนั้น แนวโน้มของมลภาวะในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า แนวทางแก้ไข เป็นต้น จุดประสงค์ของการผลิตสารคดีเรื่องนี้ก็เพื่อเป็นการเตือนให้ประชาชนสังวรในเรื่องของอันตรายจากมลภาวะ และร่วมกันแก้ไขดังนี้ เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น