มิตรภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

เทคนิค 3 ประการในการเขียนเรื่องสั้น


ในปัจจุบันนักอ่านหลาย ๆ ท่าน  ก็อยากเป็นนักเขียน  บ้างก็ชอบเขียนเรื่องสั้น  บ้างก็ชอบเขียนนิยาย  บ้างก็ชอบเขียนสารคดี  ฯลฯ  การเขียนแต่ละประเภทก็จะมีความยากง่ายและรายละเอียดที่แตกต่างกัน  แต่ถ้าท่านไหนอยากจะเขียนเรื่องสั้นละก็เรามีเคล็ดลับดี ๆ ในการเขียนเรื่องสั้นมาฝาก
                                ประการแรก  การเขียนเรื่องสั้นต้องมีแนวความคิดหลักของเรื่องหรือที่เรียกว่า Theme นั่นเอง  แต่หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่าต้องมี Theme เท่านั้นถึงจะเขียนได้หรือเปล่า คำตอบคือไม่จำเป็นค่ะแต่การเขียนเรื่องสั้นบางครั้งการที่เราไม่รู้ว่าแนว ความคิดหลักของเรื่องคืออะไรอาจจะทำให้เรื่องที่เราเขียนขาดทิศทางในการ ดำเนินเรื่อง  ทำให้เรื่องที่เขียนออกมาทำให้ผู้อ่านสับสน  ไม่รู้ว่าผู้เขียนโฟกัสตรงจุดไหน  และต้องการบอกอะไร
                                ประการที่สอง  คือ  การวางพล็อตเรื่องค่ะ  เราควรวางพล็อตว่าเรามี Theme  แบบนี้เราจะดำเนินเรื่องแบบไหน  การวางพล็อตควรวางพล็อตแบบคร่าว ๆ   เช่น  เปิดเรื่องอย่างไร  ตัวละครเป็นใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  ผลเป็นอย่างไร  และปิดเรื่องอย่างไร  การวางพล็อตเรื่องถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด  เหตุเพราะว่าเรื่องที่อ่านจะออกมาสนุก  น่าสนใจ  ซาบซึ้ง  ก็เพราะพล็อตเรื่องที่ดี  เพราะฉะนั้นเมื่อได้ Theme  มาแล้วนักเขียนควรที่จะวางพล็อตจาก Theme นั้นอย่างรอบคอบและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
                                ประการสุดท้าย  การเขียนเรื่องสั้นยากกว่าการเขียนเรื่องยาวตรงที่ผู้เขียนต้องใส่ความสมจริงลงในหน้ากระดาษที่จำกัด  ต้องให้ผู้อ่านรู้สึกว่าสิ่งที่เราเขียนนั้นมีตัวตนจริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องสมมุติ  นอกจากจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องจริงแล้ว  สิ่งที่ลืมไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งคือ  การใส่เหตุและผลให้กับตัวเรื่อง  ตัวอย่างเช่น  ตัวเอกเมื่อยังเยาว์ถูกพ่อกระทำทารุณ  โตขึ้นมาจึงเป็นคนชอบใช้กำลัง  เป็นต้น  การใส่เหตุผลของการกระทำนั้น ๆ ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามสิ่งที่เราเขียน  หรือบางครั้งผู้เขียนอาจจะใช้เทคนิคเปิดเรื่องด้วยการกระทำนั้นก่อนแล้วเฉลยในตอนท้ายเรื่องก็ได้ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงทำแบบนั้น  ก็เป็นอีกหนึ่งกลวิธีการเขียนที่ทำให้ผู้อ่านติดตามได้อย่างดี
                                เทคนิคทั้ง 3 ประการนี้เป็นแค่เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเขียน  หากท่านใดอยากเขียนเรื่องได้ดีก็ต้องลงมือเขียน แล้วเทคนิคที่เหลือนั้นก็จะเกิดจากการพัฒนาของท่านเอง

ที่มา : TooTked มนุษย์ - ภาษาไทย มช ปี ๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น