มิตรภาพ

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รู้ไหมพ. พาน กับ ว. แหวน ใช้แทนกันได้

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น
ถ้อยคำภาษาที่ใช้ในวรรณคดีท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นภาษา ที่ใช้ในท้องถิ่น คำภาษาถิ่นที่ใช้ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า วรรณคดีที่พบ เป็นวรรณคดีของท้องถิ่นใด วรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่อง มีคำภาษาบาลี หรือภาษาเขมร ปะปนอยู่บ้าง ถ้าเป็นวรรณคดีสมัยหลังบางเรื่อง อาจใช้คำภาษาไทยกลางด้วย วรรณคดีเก่าแก่ ของอีสาน และล้านนา จะใช้ศัพท์โบราณ ซึ่งมีปรากฏ ในวรรณคดีภาคกลางสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาด้วย ศิลปะการใช้ภาษา ในวรรณคดีท้องถิ่นมีหลายระดับ โดยขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และเจตนาของผู้แต่ง ประกอบกับโอกาส และสถานการณ์ในการถ่ายทอด หากผู้แต่งเป็นกวี ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีความรู้ ด้านอักษรศาสตร์สูง และเป็นการแต่งในโอกาสพิเศษ เช่น แต่งถวายเจ้านาย หรือกวีผู้แต่งมีเวลาขัดเกลา ไม่ต้องรีบร้อนเผยแพร่ ถ้อยคำภาษาที่ใช้ ก็มักมีความประณีต ไพเราะสละสลวย งดงามทั้งเสียง และความหมาย แต่ถ้าผู้แต่งเป็นกวีชาวบ้าน ที่มีความรู้ ในวงศัพท์น้อย ทั้งยังมีความจำเป็นต้องรีบแต่งให้เสร็จ เพื่อนำออกเผยแพร่โดยเร็ว เช่น แต่งเพลงพื้นบ้าน เพื่อใช้ร้องโต้ตอบกันสดๆ หรือผู้แต่งมุ่งเสนอเนื้อหา มากกว่าวรรณศิลป์ ถ้อยคำภาษาที่ใช้ ก็มักขาดความประณีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเสียงสัมผัส และการเลือกใช้คำภาษาบาลีให้เหมาะกับความหมาย ตัวอย่างของบทประพันธ์ ที่กวีสามารถใช้ถ้อยคำ ได้อย่างไพเราะ มีความงามทั้งเสียงและความหมาย ได้แก่ โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ ของล้านนา ซึ่งพรรณนาความงามของพระราชวัง และสิ่งก่อสร้าง ในเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายว่า มีความแข็งแรง และงดงามเหมือนวิมานของเทวดา ดังนี้
มังรายเรืองแรกสร้างสรีสถาน
วชิระปราการใหม่หม้า
เมโรก่อหินธารสูงส่ง งามเฮย
รังแรกหอตั้งต้าเพศเพี้ยงพิมานเท

กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าว่า แต่เดิมมีกำลังรี้พลมาก จนไม่อาจนับได้ มีรถและทหาร ที่เก่งกล้า เป็นจำนวนแสน มีช้างม้ามากมาย บ้านเมืองมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และสุขสำราญ เป็นที่เลื่องลือ มีแขกเมืองมาเยือนจำนวนมาก มีแต่ความสนุกสนานรื่นรมย์ เทวดาทุกชั้นฟ้าถึงกับชะโงกดู ดังนี้
ริพลหมี่อาจอั้นสังขยา
แสนส่ำรถโยธาแก่นกล้า
คชสารใช่โยยาเหม็งหมื่น พรายเอย
อัสสะมวลช้างม้ามากเรื้องเรืองเลา
สุขเกษมใต้ฟ้าโลกลือเลา
สะพรั่งนิรันดร์เมาชู่มื้อ
แขกเมืองมากแกมเกลาสนุกสนั่น เมืองเอย
ทุกเทพไธ้ฟ้าหยื้อชู่ชั้นพิมานเล็ง
โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ หน้า ๙ - ๑๐

วรรณคดีเรื่องวันคาร ของภาคใต้ บรรยายความ โดยเล่นสัมผัสสระ ในแต่ละวรรคได้อย่างไพเราะ และได้ใจความดี ดังนี้
ไข้หนาวราวสามเดือนแต่จะเคลื่อนไม่ไหวหวั่น
อาการการทั้งนั้น วันสามซ้อนนอนโศกครวญ
จืดปากอยากปลาทูเป็นสุดรู้มาหลายเดือน
บุญญานางมาเตือนออกโอษฐ์เอื้อนเตือนภัสดา
นายดั่น วันคาร โสฬสนิมิต หน้า ๖๖

กวีผู้แต่งนิราศหริภุญชัย ของล้านนา บรรยายภาพการพายเรือ และการร้องไห้ของตน ที่เศร้าเสียใจ เพราะจากนางผู้เป็นที่รัก ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ดังนี้
แสวแสวพายฟากฟุ้งสินธุ์สาย
สนุกสนั่นนาวาหลายหลากเหล้น
อันเรียมกันแสงฟายฟองเนตร นุชเอ่
ยลเยื่องใดจักเล้นหล่อหื้อหายทรวง
นิราศหริภุญชัย หน้า ๗๓

ตัวอย่างจากมหาชาติของล้านนาตอนหนึ่ง ซ้ำคำว่า ทุก เพื่อจำแนกสถานที่ต่างๆ ให้เห็นว่า พระนางมัทรีได้ตามหาสองกุมาร ทุกหนทุกแห่ง ดังนี้
ทุกขอกข้างอารามทุกดงรามและป่ากล้วย
ทุกซอกห้วยเครือหนามทุกดงงามป่าไม้
ทุกแหล่งไหล้เขาเขียวทุกรูเปลวปากถ้ำ
ทุกท่าน้ำและลอมคาทุกรูผาเหวหาด
ทุกที่ตาดเหวหินทุกรูดินและจอมปลวก
ทุกบวกน้ำและสระหนองทุกหินกองหินก่อ
ทุกผาช่อผาชั้นดอยดงดันมัวมืด
นางก๋ไปหยืดร้องหาก็บ่หันสองบัวตราหน่อท้าว
ในด่านด้าวแดนใด
มหาชาติพายัพฉบับสร้อยสังกร หน้า ๑๔๓

ในวรรณคดีอีสานเรื่องขูลูนางอั้ว กวีมีวิธีชมความงาม ของท้าวขูลู และนางอั้ว ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า ตัวละครทั้งสอง คงจะสวยงามมาก กวีชมท้าวขูลูว่า งามเหมือนพระอินทร์ลงมาวาด และชมนางอั้วว่า งามหยดย้อยดั่งภาพวาด ดังนี้
โสมสันคือดั่งอินทร์ลงแต้ม
ชื่อว่าขูลูน้อยเสมอตาพระบาท
ขูลูนางอั้ว หน้า ๖
 อั้วเคี่ยมน้อยงามย้อยดั่งเขียน

ตัวอย่างของการชมธรรมชาติในวรรณคดีอีสาน เช่น ในเรื่องขุนทึง ตอนขุนทึงประพาสป่า ผู้แต่งบรรยายภาพสัตว์ และดอกไม้ เห็นภาพได้ชัดเจน ดังนี้

ท้าวก็เข้าป่ากว้างมีค่างชะนีหลาย
หยายยังตันขอบขัณฑ์ขนงกว้าง
มีทังราชสีห์ช้างทองทวายควายเถื่อน
เลื่อนเลื่อนเค้าเป็นเจ้าหมู่พล
ขุนทึง หน้า ๑๑๒
เป็นสถานกว้างมาลาบานเฮื่อ
เหลือกิ่งก้านคือบ้านประเทศหลัง นั้นเด
มีทังอาฮวนเค้าดำดวนภูมเรศ
ดอกเกดแก้วทองเข้มจิ่มผา
มีทังจำปาซ้อนจำปีฮสฮ่วง
พวงพี่ต้นเหลือล้นดอกเจียง







                                   ที่มา: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓๑


                                                           
                                                                   

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ภาษา plaza

ภาษากับวัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหรือผลิตขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมารวมถึงความคิดเห็น ความประพฤติ กิริยาอาการ ภาษาศิลปะ ความเชื่อ ประเพณี เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม
      ภาษาเป็นวัฒนธรรมประการสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนและในระหว่างการสื่อสารทั้งในด้านวัจนภาษาและอวัจนภาษา
1. อวัจนภาษา ที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยมีหลายประการ ดังนี้
- กิริยาท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น คนไทยในอดีตไม่นิยมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้หญิงอวัจนภาษาของผู้หญิงเรื่องกิริยาท่าทาง นิยมความอ่อนช้อย นิ่มนวล ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันผู้หญิงไทยมีความสามารถและมีความกล้าทัดเทียมผู้ชายทั้งในด้านการเรียน และการงาน ซึ่งทำให้มีความแตกต่างกว่าในอดีตมากขึ้น
- การสัมผัส วัฒนธรรมไทย ไม่นิยมการสัมผัสโดยเฉพาะระหว่างหญิงชาย การโอบกอดจับมือทักทาย
ถือเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ ในปัจจุบันคนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมามากทำให้การสัมผัสมือ การโอบกอด
ถือเป็นเรื่องปกติ
- ลักษณะทางกายภาพ เช่น การแต่งกาย สังคมไทยเป็นเมืองรัอน มักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบาง ไม่หนักตา แต่เมื่อ
รับวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาก รวมทั้งสถานที่ทำงานติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้เราแต่งกายสากลกันมากขึ้น มีการใส่สูท ผูกเนคไท เป็นต้น
- การใช้สายตา ผู้น้อยไม่สบตาผู้ใหญ่โดยตรง ถือว่าเป็นการเสียมารยาทแต่ในปัจจุบันเด็กมีความกล้ามากขึ้น กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูก นั้นคือการรับวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาเช่นกัน
จากข้อความข้างต้น ทำให้เห็นว่า แต่ละวัฒนธรรม อวัจนภาษามีความแตกต่างกันในการสื่อความหมาย หากผู้ส่งสารจะต้องส่งสารต่างวัฒนธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้รับสารให้กระจ่าง เพื่อป้องกันปัญหาการสื่อสารอันอาจเกิดจากอวัจนภาษาได้
2. วัจนภาษา
เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ชัดเจน วัฒนธรรมทางภาษาของไทยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
คือ อักษรไทย วิธีการเขียนจากซ้ายไปขวา เป็นวัฒนธรรมในการเขียนอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ต่างจากหลายชาติในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าทั้งสองประเทศจะเปิดหนังสือจากด้านหลังมาด้านหน้า ซึ่งวัฒนธรรมการใช้วัจนภาษาของไทยมีดังนี้
2.1 วัฒนธรรมการใช้ภาษาหลากหลาย
สื่อความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสำหรับบุคคลต่างระดับ ต่างกลุ่มกัน เช่น คำว่า กิน อาจใช้ตั้งแต่ ยัด กิน ทาน รับประทาน เสวย เป็นต้น
2.2 วัฒนธรรมในการสร้างความสัมพันธ์ระบบเครือญาติด้วยภาษา
เช่น สังคมไทยมักกำหนดให้คนรู้จัก หรือคนที่เราต้องสื่อสารด้วยไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเฉพาะหน้า
หรือผ่านสื่อมวลชนเป็นเครือญาติโดยปริยาย
2.3 วัฒนธรรมในการกำหนดคำลงท้าย
ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างบุคคลสุภาพและนุ่มนวลขึ้น เช่น คะ ขา จ๊ะ จ๋า ครับ ขอรับกระผม ฯลฯ
2.4 วัฒนธรรมในการใช้คำคล้องจอง
ลักษณะคล้ายกลอน เพลง เพื่อให้เสียงเป็นจังหวะ และช่วยในการจดจำ เช่น กินข้าว กินปลามาหรือยัง เป็นต้น
2.5 วัฒนธรรมการใช้ภาษาในการอธิบายความหมายมากกว่าการพูดความจริง ๆตรง ๆ
อาทิ การเปรียบเทียบ การใช้คำสุภาษิต เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง ใช้เปรียบเทียบสามีภรรยาที่มีความกระทบกระทั่งกันเสมอ ๆ นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตบางประการที่แทรกอยู่ในวัจนภาษาและอวัจนภาษาในสังคมไทย ได้แก่ คนไทยมักใช้คำว่า เปล่า ทั้งในการตอบรับหรือปฏิเสธ และการหยุดหรือการเงียบโดยไม่ใช่การยอมรับตามที่เข้าใจกันซึ่งทำให้ผู้ที่สื่อสาร
ต้องระวังวัฒนธรรมการใช้ภาษาบางประการเหล่านี้ด้วย เพราะบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ซึ่งผู้ส่งสารต้องเข้าใจในวัฒนธรรมการใช้ภาษาในแต่ละประเทศด้วยการสื่อสารจึงจะประสบผลสำเร็จ
เราสามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม ได้ดังนี้
1) ภาษาเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติ และวัฒนธรรมของชาติ แสดงถึงความผูกพัน เป็นชนชาติเดียวกัน และ
มีประโยชน์ต่อนักภาษาศาสตร์ที่สามารถสืบค้นความเป็นมาของชนชาติตน
2) ภาษาเป็นเครื่องแสดงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในฐานะของผู้ส่ง-ผู้รับภาษา และในฐานะความสัมพันธ์
ฉันท์เครือญาติ
3) ภาษาเป็นตัวแทนของพฤติกรรม และกิจกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นสังคมของมนุษย์
4) ภาษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แสดงความเชื่อทางการเมือง ความศรัทธาความจงรักภักดีต่อระบอบ        การปกครองและทางการเมือง
5) ภาษาช่วยในการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบัน
6) ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคม
องค์ประกอบที่ทำให้มนุษย์ใช้ภาษาแตกต่างกัน
Ø อายุ
Ø เพศ
Ø ประสบการณ์
Ø ความใกล้ชิด
Ø โอกาส
Ø อาชีพ
Ø การอบรมเลี้ยงดูและการศึกษา
Ø ตำแหน่งและฐานะทางสังคม
Ø สภาพทางภูมิศาสตร์
ภาษากับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันผู้สื่อสารจำเป็นต้องเรียนรู้
และทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของแต่ละสังคมให้ละเอียดก่อนการสื่อสาร



ภาษาถิ่น