มิตรภาพ

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555


รสทางวรรณคดีสันสกฤต


วรรณคดีสันสกฤต มีปรากฏใน ตำรานาฏยศาสตร์ (นาฏยเวท) ของพระภรตมุนี ซึ่งกล่าวถึงคุณสมบัติของตัวละครสันสกฤตที่ดีกว่า ต้องประกอบด้วยรส ๙  รส คือ ศฤงคารรส หาสยรส กรุณารส รุทรรส วีรรส ภยานกรส พีภัตสรส อัพภูตรสและศานติรส โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

                ๑) ศฤงคารรส (รสแห่งความรัก) เป็นการพรรณาความรักระหว่างหนุ่มสาวระหว่างสามี ภรรยา ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย บิดามารดากับบุตร ญาติกับญาติ ฯลฯ สามารถทำให้ผู้อ่าน พอใจรัก เห็นคุณค่าของความรักนึกอยากรักกับเขาบ้างเช่น รักฉันชู้สาว รักหมู่คณะ รักประเทศชาติ เป็นต้น อย่างเช่น เรื่องลิลิตพระลอ เต็มไปด้วยรสรัก(บาลี เรียกรสนี้ว่า รติรส) จะกล่าวว่าในรสนี้ อาจเทียบได้กับนารีปราโมทย์ก็ว่าได้ 
                                .        
                                                      ..ถึงไปก็ไม่อยู่นาน                    เยาวมาลย์อย่าโศกเศร้าหมอง                                 
พระจุมพิตชิดเชยปรางทอง               กรประคองนฤมลขึ้นบนเพลาฯ                 

ในบทนี้ เนื้อความจะคล้ายกับตัวอย่างที่ยกไว้ในรสนารีปราโมทย์ คือตนก็ยังรักจินตะหราอยู่ ไม่ได้หนีหน่ายไปไหน ขอจินตะหราอย่าโศกเศร้าเสียใจไปเลย

                ๒) หาสยรส (รสแห่งความขบขัน)เป็นการพรรณนาที่ทำให้เกิดความร่าเริง สดชื่น เสนาะ ขบขัน อาจทำให้ผู้อ่าน ผู้ดูยิ้มกับหนังสือ ยิ้มกับภาพที่เห็น ถึงกับลืมทุกข์ดับกลุ้มไปชั่วขณะ เช่น เรื่องระเด่นลันได เป็นต้น (บาลีเรียกรสนี้ว่า หาสะรส) ตัวอย่างเช่น 
                                    บ้างบ่าวเข้าคนละบ่าพานายวิ่ง         ประเจียดเครื่องเปลื้องทิ้งไว้เกลื่อนกล่น                               
  บ้างหนามเกี่ยวหัวหูไม่รู้ตน              ซุกซนด้นไปแต่ลำพัง                                
 บ้างเททิ้งไถ้ข้าวเขนงปืน     รื้อตื่นเสียงเพื่อนกันข้างหลัง                                
 ที่ถูกปืนป่วยขาละล้าละลัง       อุตส่าห์คลานเซซังซุกไปฯ                 

กวีตั้งใจจะให้ดูแล้วตลกขบขัน แม้ว่าเราอาจจะอ่านแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่ขำสักเท่าไหร่ คือเมื่อท้าวกะหมังกุหนิงถูกกริชแล้ว โดยปกติเมื่อแม่ทัพตาย ใครเล่าจะยังอยู่รบต่อ ก็ได้แต่แตกกระเจิงหนีกันหัวซุกหัวซุน บ้างก็วิ่งกันผ้าผ่อนหลุดลุ่ย หนามทิ่งแทงเกี่ยวไปเกี่ยวมา บ้างวิ่งบ้างคลาน เห็นถึงความ ชุลมุนวุ่นวายไปหมด     

                ๓) กรุณารส (รสแห่งความเมตตากรุณาที่เกิดภายหลังความเศร้าโศก) เป็นบทพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านหดหู่เหี่ยวแห้ง เกิดความเห็นใจถึงกับ น้ำตาไหล พลอยเป็นทุกข์ เอาใจช่วยตัวละคร เช่น เห็นใจนางสีดา เห็นใจจรกา และเห็นใจนางวันทอง เป็นต้น(บาลีเรียกรสนี้ว่า โสกะรส) 
                                      
 แต่การศึกครั้งนี้ไม่ควรเป็น       เกิดเข็ญเพราะลูกอัปลักษณ์                                 
จะมีคู่ผู้ชายก็ไม่รัก                       จึงหักให้สาสมใจ                 

เมื่ออ่านตรงช่วงนี้แล้ว เราจะรู้สึกสงสารท้าวดาหาขึ้นมาจับใจ เพราะท้าวดาหาได้แต่ตัดพ้อต่อว่าน้อยใจ ว่าศึกสงครามนั้นมันไม่น่าเกิดขึ้นหรอก ถ้าไม่ใช่เพราะว่าลูกของตนนั้นหน้าตาอัปลักษณ์ ดูสิ ขนาดว่าจะแต่งงานทั้งที ผู้ชายเขายังไม่รักเลย ซึ่งเป็นการ กล่าวประชดประชัน เพราะท้าวดาหานั้นกำลังน้อยใจอิเหนา

                ๔) รุทรรส/เราทรรส (รสแห่งความโกรธเคือง) บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้ดูผู้อ่านขัดใจฉุนเฉียว ขัดเคืองบุคคลบางคนในเรื่อง บางทีถึงกับขว้างหนังสือทิ้ง หรือฉีกตอนนั้นก็มี เช่น โกรธขุนช้าง โกรธชูชก(บาลีเรียกรสนี้ว่า โกธะ) รสนี้ เทียบได้กับรสวรรณคดีไทยคือ พิโรธวาทัง 
                                                เมื่อนั้น            ท้าวกะหมังกุหนิงนเรนทร์สูร                                
 ได้ฟังทั้งสองทูตทูล             ให้อาดูรเดือดใจดั่งไฟฟ้า                                 
จึงบัญชาตรัสด้วยขัดเคือง              ดูดู๋เจ้าเมืองดาหา                                 
เราอ่อนง้อขอไปในสารา                   แต่จะว่ารับไว้ก็ไม่มี               
  
เป็นตอนที่ท้าวกะหมังกุหนิงก็กำลังโกรธยิ่งนัก เพราะตนนั้นยอมอ่อนข้อส่งคนไปขอเจรจา แต่ท้าวดาหานั้นหาได้จะรับไว้แม้แต่นิดเดียวเลย คิดแล้วก็น่าแค้นใจนัก 

                ๕) วีรรส (รสแห่งความกล้าหาญ) บทบรรยายหรือพรรณาที่ทำให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟังพอใจผลงานและหน้าที่ ไม่ดูหมิ่นงาน อยากเป็นใหญ่ อยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง เลียนแบบสมเด็จพระนเรศวร ชอบความมีขัตติมานะของพระมหาอุปราชา จากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย (บาลีเรียกรสนี้ว่า อุตสาหะรส) 
                                                .
..จะตั้งหน้าอาสาชิงชัย      มิได้ย่อท้อถอยหลัง                               
  สู้ตายไม่เสียดายชีวัง   กว่าจะสิ้นชีวังของข้านี้ฯ                 

เมื่อได้อ่านบทนี้แล้ว บางคนอาจจะเลือดรักชาติพลุ่งพล่านเลยเทียว บนข้างต้นนี้เป็นตอนที่เจ้าเมืองในปกครองของท้าวกะหมังกุหนิง นั้นรับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะอย่างดีว่า ตนยินดีร่วมรบร่วมต่อสู้อย่างสุดกำลัง พร้อมจะสู้แม้ตัวจะตายก็ยอม

                ๖) ภยานกรส (รสแห่งความกลัว ตื่นเต้นตกใจ) บทบรรยายหรือพรรณาที่ทำให้ผู้อ่านผู้ฟัง ผู้ดู มองเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยในบาปกรรมทุจริต เกิดความสะดุ้ง กลัวโรคภัยสัตว์ร้าย ภูตผีปีศาจ บางครั้งต้องหยุดอ่าน รู้สึกขนลุกซู่ อ่านเรื่อง ผีต่างๆ 
                                             
   เห็นระตูถอยเท้าก้าวผิด      พระกรายกริชแทงอกตลอดหลัง                             
    ล้มลงด่าวดิ้นสิ้นกำลัง                         มอดม้วยชีวังปลดปลงฯ                

 เมื่ออ่านแล้วคงรู้สึกอึ้ง เสียวสันหลังไปชั่วขณะ เราคงจะรู้สึกว่าโลกนี้นั้นล้วนเป็นอนิจจังจริงๆ  เพราะเราได้เห็นบทสรุปของการไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง บทสรุปของการลำพองตน ตนเองนั้นเป็นดั่งแสงหิ่งห้อย จะไปแข่งกับแสงอาทิตย์ได้เช่นไร บทข้างต้นนี้บรรยายไห้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน ว่าท้าวกะหมังกุหนิงนั้น เพียงแค่ก้าวเท้าผิดเพียงก้าวเดียว ก็ถูกอิเหนาแทงกริชจากอกทะลุไปถึงหลัง ล้มลงนอนดิ้นลงไปเลยทีเดียว นึกแล้วคง สยดสยองมิใช่น้อย

                ๗) พีภัตสรส (รสแห่งความชัง ความรังเกียจ) บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านผู้ดู ผู้ฟังชังน้ำหน้าตัวละครบ้างตัว เพราะจิต(ของตัวละคร) บ้าง เพราะความโหดร้ายของตัวละครบ้างเช่น เกลียดนางผีเสื้อสมุทร ในเรื่องพระอภัยมณีที่ฆ่าพ่อเงือก เป็นต้น (บาลีเรียกรสนี้ว่า ชิคุจฉะรส) 
ในตอนที่ศึกษานี้ ไม่พบว่ามีตอนที่ให้อารมณ์ได้อย่างเกลียดชังเท่าไหร่นัก
                ๘) อัพภูตรส (รสแห่งความพิศวงประหลาดใจ) บทบรรยายหรือพรรณนาที่ทำให้นึกแปลกใจ เอะใจ อย่างหนัก ตื่นเต้นนึกไม่ถึงว่า เป็นไปได้ เช่นนั้น หรือ อัศจรรย์คาดไม่ถึงในความสามารถ ในความคมคายของคารม ในอุบายหรือในศิลปวิทยาคุณแปลกใจในสุปฎิบัติ (ความประพฤติที่ดีงาม) แห่งขันติ เมตตา กตัญญู อันยากยิ่งที่คนธรรมดาจะทำได้ (รสนี้บาลีเรียก วิมหะยะรส)
                ๙) ศานติรส(รสแห่งความสงบ) อันเป็นอุดมคติของเรื่อง เช่น ความสงบสุขในแดนสุขาวดี ในเรื่อง วาสิฏฐี อันเป็นผลมุ่งหมายทางโลก และทางธรรม เป็นผลให้ผู้อ่าน ผู้ดู ผู้ฟัง เกิดความสุขสงบ ในขณะได้เห็นได้ฟัง ตอนนั้น ด้วย (บาลีเรียกรสนี้ว่า สมะรส)


ขอบคุณที่มา : http://www.learners.in.th/blogs/posts/261170

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น