มิตรภาพ

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตในภาษาไทย

คำภาษาบาลีและสันสกฤตในวรรณคดีไทย
คำภาษาบาลีและสันสกฤตปรากฏในวรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนกระทั่งในสมัย ปัจจุบันทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง คือพบตั้งแต่ในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงแม้จะมีไม่มากนักแต่ก็เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นไทยได้นำภาษาบาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทยของเราแล้ว และในสมัยต่อมาก็ปรากฏว่านิยมใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตในการแต่งวรรณคดีมากขึ้น
วิสัณติ์ กฏแก้ว (2529 : 2) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้คำบาลีและสันสกฤตเป็นที่นิยมชมชอบในการนำมาใช้ในทางวรรณคดีพอจะสรุปได้ดังนี้
1. วรรณคดีไทยเป็นวรรณกรรมที่ถือเอาเสียงไพเราะเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีประเภทร้อยกรอง นอกจากจะถือเอาความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญแล้ว ในการประพันธ์วรรณกรรมประเภทฉันท์ จะต้องถือคำ ครุ ลหุ เป็นสำคัญอีกด้วย คำที่เป็นเสียงลหุในภาษาไทยมีน้อยมาก จึงจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ภาษาบาลีและสันสกฤต เพราะสามารถเลือกคำ ลหุ ครุ ได้มากและสามารถดัดแปลงให้เข้ากับภาษาของเราได้ดี

ตัวอย่าง

ข้าขอเทิดทศนัขประณามคุณพระศรี สรรเพชญพระผู้มี พระภาค

อีกธรรมาภิสมัยพระไตรปิฏกวากย์ ทรงคุณคะนึงมาก ประมาณ

(สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ 19 – อิลราชคำฉันท์)

2. คนไทยถือว่าคำบาลีและสันสกฤตเป็นคำสูง เพราะเป็นคำที่ใช้เผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า และผู้ที่ใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตส่วนใหญ่อยู่ในฐานะควรแก่การเคารพบูชาทั่วไป เช่น พระสงฆ์ พราหมณ์ เป็นต้น ดังนั้นการแต่งฉันท์ที่ถือกันว่าเป็นของสูง จึงนิยมใช้คำบาลีและสันสกฤต

3. วรรณคดีไทยโดยมากมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับจักรๆวงศ์ๆ ซึงจะต้องใช้คำราชาศัพท์ การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตที่เป็นคำราชาศัพท์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่น พระเนตร พระพักตร์ พระกรรณ เป็นต้น

4. การใช้คำภาษาบาลีและสันสกฤตแต่งฉันท์ เป็นเครื่องแสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นอย่างดี มีคนเคารพนับถือและยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น