มิตรภาพ

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น

ศิลปะการใช้ภาษาในวรรณคดีท้องถิ่น
ถ้อยคำภาษาที่ใช้ในวรรณคดีท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นภาษา ที่ใช้ในท้องถิ่น คำภาษาถิ่นที่ใช้ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า วรรณคดีที่พบ เป็นวรรณคดีของท้องถิ่นใด วรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่อง มีคำภาษาบาลี หรือภาษาเขมร ปะปนอยู่บ้าง ถ้าเป็นวรรณคดีสมัยหลังบางเรื่อง อาจใช้คำภาษาไทยกลางด้วย วรรณคดีเก่าแก่ ของอีสาน และล้านนา จะใช้ศัพท์โบราณ ซึ่งมีปรากฏ ในวรรณคดีภาคกลางสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาด้วย ศิลปะการใช้ภาษา ในวรรณคดีท้องถิ่นมีหลายระดับ โดยขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และเจตนาของผู้แต่ง ประกอบกับโอกาส และสถานการณ์ในการถ่ายทอด หากผู้แต่งเป็นกวี ที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต มีความรู้ ด้านอักษรศาสตร์สูง และเป็นการแต่งในโอกาสพิเศษ เช่น แต่งถวายเจ้านาย หรือกวีผู้แต่งมีเวลาขัดเกลา ไม่ต้องรีบร้อนเผยแพร่ ถ้อยคำภาษาที่ใช้ ก็มักมีความประณีต ไพเราะสละสลวย งดงามทั้งเสียง และความหมาย แต่ถ้าผู้แต่งเป็นกวีชาวบ้าน ที่มีความรู้ ในวงศัพท์น้อย ทั้งยังมีความจำเป็นต้องรีบแต่งให้เสร็จ เพื่อนำออกเผยแพร่โดยเร็ว เช่น แต่งเพลงพื้นบ้าน เพื่อใช้ร้องโต้ตอบกันสดๆ หรือผู้แต่งมุ่งเสนอเนื้อหา มากกว่าวรรณศิลป์ ถ้อยคำภาษาที่ใช้ ก็มักขาดความประณีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านเสียงสัมผัส และการเลือกใช้คำภาษาบาลีให้เหมาะกับความหมาย ตัวอย่างของบทประพันธ์ ที่กวีสามารถใช้ถ้อยคำ ได้อย่างไพเราะ มีความงามทั้งเสียงและความหมาย ได้แก่ โคลงเรื่อง มังทรารบเชียงใหม่ ของล้านนา ซึ่งพรรณนาความงามของพระราชวัง และสิ่งก่อสร้าง ในเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระเจ้ามังรายว่า มีความแข็งแรง และงดงามเหมือนวิมานของเทวดา ดังนี้
มังรายเรืองแรกสร้างสรีสถาน
วชิระปราการใหม่หม้า
เมโรก่อหินธารสูงส่ง งามเฮย
รังแรกหอตั้งต้าเพศเพี้ยงพิมานเท

กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่ก่อนตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าว่า แต่เดิมมีกำลังรี้พลมาก จนไม่อาจนับได้ มีรถและทหาร ที่เก่งกล้า เป็นจำนวนแสน มีช้างม้ามากมาย บ้านเมืองมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และสุขสำราญ เป็นที่เลื่องลือ มีแขกเมืองมาเยือนจำนวนมาก มีแต่ความสนุกสนานรื่นรมย์ เทวดาทุกชั้นฟ้าถึงกับชะโงกดู ดังนี้
ริพลหมี่อาจอั้นสังขยา
แสนส่ำรถโยธาแก่นกล้า
คชสารใช่โยยาเหม็งหมื่น พรายเอย
อัสสะมวลช้างม้ามากเรื้องเรืองเลา
สุขเกษมใต้ฟ้าโลกลือเลา
สะพรั่งนิรันดร์เมาชู่มื้อ
แขกเมืองมากแกมเกลาสนุกสนั่น เมืองเอย
ทุกเทพไธ้ฟ้าหยื้อชู่ชั้นพิมานเล็ง
โคลงเรื่องมังทรารบเชียงใหม่ หน้า ๙ - ๑๐

วรรณคดีเรื่องวันคาร ของภาคใต้ บรรยายความ โดยเล่นสัมผัสสระ ในแต่ละวรรคได้อย่างไพเราะ และได้ใจความดี ดังนี้
ไข้หนาวราวสามเดือนแต่จะเคลื่อนไม่ไหวหวั่น
อาการการทั้งนั้น วันสามซ้อนนอนโศกครวญ
จืดปากอยากปลาทูเป็นสุดรู้มาหลายเดือน
บุญญานางมาเตือนออกโอษฐ์เอื้อนเตือนภัสดา
นายดั่น วันคาร โสฬสนิมิต หน้า ๖๖

กวีผู้แต่งนิราศหริภุญชัย ของล้านนา บรรยายภาพการพายเรือ และการร้องไห้ของตน ที่เศร้าเสียใจ เพราะจากนางผู้เป็นที่รัก ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ดังนี้
แสวแสวพายฟากฟุ้งสินธุ์สาย
สนุกสนั่นนาวาหลายหลากเหล้น
อันเรียมกันแสงฟายฟองเนตร นุชเอ่
ยลเยื่องใดจักเล้นหล่อหื้อหายทรวง
นิราศหริภุญชัย หน้า ๗๓

ตัวอย่างจากมหาชาติของล้านนาตอนหนึ่ง ซ้ำคำว่า ทุก เพื่อจำแนกสถานที่ต่างๆ ให้เห็นว่า พระนางมัทรีได้ตามหาสองกุมาร ทุกหนทุกแห่ง ดังนี้
ทุกขอกข้างอารามทุกดงรามและป่ากล้วย
ทุกซอกห้วยเครือหนามทุกดงงามป่าไม้
ทุกแหล่งไหล้เขาเขียวทุกรูเปลวปากถ้ำ
ทุกท่าน้ำและลอมคาทุกรูผาเหวหาด
ทุกที่ตาดเหวหินทุกรูดินและจอมปลวก
ทุกบวกน้ำและสระหนองทุกหินกองหินก่อ
ทุกผาช่อผาชั้นดอยดงดันมัวมืด
นางก๋ไปหยืดร้องหาก็บ่หันสองบัวตราหน่อท้าว
ในด่านด้าวแดนใด
มหาชาติพายัพฉบับสร้อยสังกร หน้า ๑๔๓

ในวรรณคดีอีสานเรื่องขูลูนางอั้ว กวีมีวิธีชมความงาม ของท้าวขูลู และนางอั้ว ให้ผู้อ่านรู้สึกว่า ตัวละครทั้งสอง คงจะสวยงามมาก กวีชมท้าวขูลูว่า งามเหมือนพระอินทร์ลงมาวาด และชมนางอั้วว่า งามหยดย้อยดั่งภาพวาด ดังนี้
โสมสันคือดั่งอินทร์ลงแต้ม
ชื่อว่าขูลูน้อยเสมอตาพระบาท
ขูลูนางอั้ว หน้า ๖
 อั้วเคี่ยมน้อยงามย้อยดั่งเขียน

ตัวอย่างของการชมธรรมชาติในวรรณคดีอีสาน เช่น ในเรื่องขุนทึง ตอนขุนทึงประพาสป่า ผู้แต่งบรรยายภาพสัตว์ และดอกไม้ เห็นภาพได้ชัดเจน ดังนี้

ท้าวก็เข้าป่ากว้างมีค่างชะนีหลาย
หยายยังตันขอบขัณฑ์ขนงกว้าง
มีทังราชสีห์ช้างทองทวายควายเถื่อน
เลื่อนเลื่อนเค้าเป็นเจ้าหมู่พล
ขุนทึง หน้า ๑๑๒
เป็นสถานกว้างมาลาบานเฮื่อ
เหลือกิ่งก้านคือบ้านประเทศหลัง นั้นเด
มีทังอาฮวนเค้าดำดวนภูมเรศ
ดอกเกดแก้วทองเข้มจิ่มผา
มีทังจำปาซ้อนจำปีฮสฮ่วง
พวงพี่ต้นเหลือล้นดอกเจียง







                                   ที่มา: สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓๑


                                                           
                                                                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น