มิตรภาพ

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ภาษากับวัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงหรือผลิตขึ้น เพื่อความเจริญงอกงามในวิถีชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมารวมถึงความคิดเห็น ความประพฤติ กิริยาอาการ ภาษาศิลปะ ความเชื่อ ประเพณี เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม
      ภาษาเป็นวัฒนธรรมประการสำคัญที่จำเป็นต้องเรียนรู้ก่อนและในระหว่างการสื่อสารทั้งในด้านวัจนภาษาและอวัจนภาษา
1. อวัจนภาษา ที่มีลักษณะเฉพาะของสังคมไทยมีหลายประการ ดังนี้
- กิริยาท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น คนไทยในอดีตไม่นิยมเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้หญิงอวัจนภาษาของผู้หญิงเรื่องกิริยาท่าทาง นิยมความอ่อนช้อย นิ่มนวล ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ปัจจุบันผู้หญิงไทยมีความสามารถและมีความกล้าทัดเทียมผู้ชายทั้งในด้านการเรียน และการงาน ซึ่งทำให้มีความแตกต่างกว่าในอดีตมากขึ้น
- การสัมผัส วัฒนธรรมไทย ไม่นิยมการสัมผัสโดยเฉพาะระหว่างหญิงชาย การโอบกอดจับมือทักทาย
ถือเป็นวัฒนธรรมต่างชาติ ในปัจจุบันคนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมามากทำให้การสัมผัสมือ การโอบกอด
ถือเป็นเรื่องปกติ
- ลักษณะทางกายภาพ เช่น การแต่งกาย สังคมไทยเป็นเมืองรัอน มักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าบาง ไม่หนักตา แต่เมื่อ
รับวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาก รวมทั้งสถานที่ทำงานติดเครื่องปรับอากาศ ทำให้เราแต่งกายสากลกันมากขึ้น มีการใส่สูท ผูกเนคไท เป็นต้น
- การใช้สายตา ผู้น้อยไม่สบตาผู้ใหญ่โดยตรง ถือว่าเป็นการเสียมารยาทแต่ในปัจจุบันเด็กมีความกล้ามากขึ้น กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูก นั้นคือการรับวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามาเช่นกัน
จากข้อความข้างต้น ทำให้เห็นว่า แต่ละวัฒนธรรม อวัจนภาษามีความแตกต่างกันในการสื่อความหมาย หากผู้ส่งสารจะต้องส่งสารต่างวัฒนธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของผู้รับสารให้กระจ่าง เพื่อป้องกันปัญหาการสื่อสารอันอาจเกิดจากอวัจนภาษาได้
2. วัจนภาษา
เป็นวัฒนธรรมประจำชาติที่ชัดเจน วัฒนธรรมทางภาษาของไทยสืบทอดมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
คือ อักษรไทย วิธีการเขียนจากซ้ายไปขวา เป็นวัฒนธรรมในการเขียนอย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ต่างจากหลายชาติในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าทั้งสองประเทศจะเปิดหนังสือจากด้านหลังมาด้านหน้า ซึ่งวัฒนธรรมการใช้วัจนภาษาของไทยมีดังนี้
2.1 วัฒนธรรมการใช้ภาษาหลากหลาย
สื่อความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสำหรับบุคคลต่างระดับ ต่างกลุ่มกัน เช่น คำว่า กิน อาจใช้ตั้งแต่ ยัด กิน ทาน รับประทาน เสวย เป็นต้น
2.2 วัฒนธรรมในการสร้างความสัมพันธ์ระบบเครือญาติด้วยภาษา
เช่น สังคมไทยมักกำหนดให้คนรู้จัก หรือคนที่เราต้องสื่อสารด้วยไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารเฉพาะหน้า
หรือผ่านสื่อมวลชนเป็นเครือญาติโดยปริยาย
2.3 วัฒนธรรมในการกำหนดคำลงท้าย
ที่ช่วยให้การสื่อสารระหว่างบุคคลสุภาพและนุ่มนวลขึ้น เช่น คะ ขา จ๊ะ จ๋า ครับ ขอรับกระผม ฯลฯ
2.4 วัฒนธรรมในการใช้คำคล้องจอง
ลักษณะคล้ายกลอน เพลง เพื่อให้เสียงเป็นจังหวะ และช่วยในการจดจำ เช่น กินข้าว กินปลามาหรือยัง เป็นต้น
2.5 วัฒนธรรมการใช้ภาษาในการอธิบายความหมายมากกว่าการพูดความจริง ๆตรง ๆ
อาทิ การเปรียบเทียบ การใช้คำสุภาษิต เช่น ขิงก็รา ข่าก็แรง ใช้เปรียบเทียบสามีภรรยาที่มีความกระทบกระทั่งกันเสมอ ๆ นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตบางประการที่แทรกอยู่ในวัจนภาษาและอวัจนภาษาในสังคมไทย ได้แก่ คนไทยมักใช้คำว่า เปล่า ทั้งในการตอบรับหรือปฏิเสธ และการหยุดหรือการเงียบโดยไม่ใช่การยอมรับตามที่เข้าใจกันซึ่งทำให้ผู้ที่สื่อสาร
ต้องระวังวัฒนธรรมการใช้ภาษาบางประการเหล่านี้ด้วย เพราะบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างตรง ๆ ไม่อ้อมค้อม ซึ่งผู้ส่งสารต้องเข้าใจในวัฒนธรรมการใช้ภาษาในแต่ละประเทศด้วยการสื่อสารจึงจะประสบผลสำเร็จ
เราสามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม ได้ดังนี้
1) ภาษาเป็นเครื่องแสดงความเป็นชาติ และวัฒนธรรมของชาติ แสดงถึงความผูกพัน เป็นชนชาติเดียวกัน และ
มีประโยชน์ต่อนักภาษาศาสตร์ที่สามารถสืบค้นความเป็นมาของชนชาติตน
2) ภาษาเป็นเครื่องแสดงปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ในฐานะของผู้ส่ง-ผู้รับภาษา และในฐานะความสัมพันธ์
ฉันท์เครือญาติ
3) ภาษาเป็นตัวแทนของพฤติกรรม และกิจกรรมที่ถ่ายทอดความเป็นสังคมของมนุษย์
4) ภาษาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แสดงความเชื่อทางการเมือง ความศรัทธาความจงรักภักดีต่อระบอบ        การปกครองและทางการเมือง
5) ภาษาช่วยในการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบัน
6) ภาษาเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคม
องค์ประกอบที่ทำให้มนุษย์ใช้ภาษาแตกต่างกัน
Ø อายุ
Ø เพศ
Ø ประสบการณ์
Ø ความใกล้ชิด
Ø โอกาส
Ø อาชีพ
Ø การอบรมเลี้ยงดูและการศึกษา
Ø ตำแหน่งและฐานะทางสังคม
Ø สภาพทางภูมิศาสตร์
ภาษากับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันผู้สื่อสารจำเป็นต้องเรียนรู้
และทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของแต่ละสังคมให้ละเอียดก่อนการสื่อสาร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น